วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

อิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่อมนุษย์


อิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อความแตกต่างของบุคคลในด้านต่างๆ

1. ความแตกต่างทางด้านร่างกาย (Physical)


เป็นความแตกต่างที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด ซึ่งรับอิทธิพลมาจากพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราสามารถจำแนกความแตกต่างทางด้านร่างกายของแต่ละบุคคล ได้แก่
1) ลักษณะโครงสร้างทางร่างกาย เช่น ลักษณะสีผิว หน้าตา ลักษณะรูปร่าง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นไปตามลักษณะโครงสร้างตามเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกัน
2) เพศ ทารกที่เกิดใหม่จะได้รับอิทธิพลทางเพศมาจาก เซ็กซ์โครโมโซม โดยตรง ซึ่งสรีระของชายและหญิงก็จะปรากฏความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
3) ชนิดของกลุ่มโลหิต โดยปกติแล้วมนุษย์จะมีกลุ่มโลหิตเพียง 4 กลุ่ม คือ A, B, O และ AB ซึ่งบุคคลใดจะมีโลหิตกลุ่มใดขึ้นอยู่กับพันธุกรรมจากบิดาและมารดาของตนดังตาราง
4) การทำงานของอวัยวะภายใน มีการทำงานของระบบภายในร่างกายที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ความดันเลือด เป็นต้น
5) ลักษณะของโรคภัยไข้เจ็บ และข้อบกพร่องทางร่างกายบางประการที่เกิดจากพันธุกรรม เช่น ตาบอดสี โรคเลือดไหลไม่หยุด ลมบ้าหมู ธาลัสซีเมีย เบาหวาน นิ้วเกิน นิ้วติด ผิวเผือก เป็นต้น 
2. ความแตกต่างทางด้านสติปัญญา (Intelligence)


สติปัญญา หมายถึง ความสามารถทางสมองในการจำ คิด วิเคราะห์ หาเหตุผล เรียนรู้ และการกระทำกิจกรรมต่างๆ ให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เจนเซน (Jensen) สรุปไว้ว่า ความฉลาดและความโง่ของแต่ละบุคคลเป็นผลมาจากพันธุกรรมถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นผลจากสิ่งแวดล้อม
        เฮนรี่ อี. ก็อดดาร์ด (Henrey E. Goddard) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลของตระกูลหนึ่งซึ่งเพื่อความเหมาะสมจึงให้การสมมติชื่อขึ้น โดยศึกษาย้อนหลังไปกว่า 50 ปี ซึ่งนับว่าเป็นการศึกษาอิทธิพลของพันธุกรรมที่มีต่อสติปัญญาของบุคคลที่ได้รับการยอมรับและกล่าวถึงกันมากในแวดวงจิตวิทยา
        นอกจากนี้ เออร์เลนไมเออร์ คิมลิง และจาร์วิก (Erlenmeyer Kimling and Jarvik) ได้ศึกษาเรื่องอิทธิพลของพันธุกรรมที่มีต่อสติปัญญา โดยใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมในระดับต่าง ๆ เพื่อหาค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ทางสติปัญญาจำนวน 52 งานวิจัย ได้ผลดังภาพ
3.     ความแตกต่างด้านอารมณ์ (Emotion)
อารมณ์ (Emotion) หมายถึง สภาวะของจิตใจที่มีการ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าอารมณ์เป็นผลมาจากการถูกกระตุ้น จากสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายใน
เคิรตช์และครัตช์ฟิลด์ (Kretch and Crutchfield) เชื่อว่าอารมณ์เป็นสัญชาตญาณที่ติดตัวมากับมนุษย์แต่กำเนิดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอารมณ์พื้นฐาน (Primary Emotion) ได้แก่ รัก โกรธ เกลียด กลัว ร่าเริง เศร้า สนุกสนาน เป็นต้น ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ถูกถ่ายทอดมาจากยีนบรรพบุรุษของมนุษย์ ดังนั้น คนเราจึงมีอารมณ์พื้นฐานเหมือนกันทั้งสิ้น เพียงแต่มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน เช่น บางคนเมื่อโกรธก็จะขว้างปาสิ่งของ หรือบางคนอาจแสดงออกแค่การกำมือแน่น เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ นอกจากอารมณ์พื้นฐานแล้วยังมีอารมณ์บางส่วนที่เกิดจากการเรียนรู้ภายหลัง เช่น อิจฉา ใจร้อน ใจเย็น ตลกขบขัน เป็นต้น
4.     ความแตกต่างทางสังคม (Social)


ความแตกต่างทางสังคม หมายถึง ความแตกต่างด้านการแสดงออกทางพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นในสังคม ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพกับสมาชิกอื่นในสังคม การวางตัว และการปรับตัว เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกมาจะเป็นในทางบวกหรือลบในระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่บุคคลเติบโตมา โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมในสถาบันครอบครัว
5.     ความแตกต่างด้านบุคลิกภาพ (Personality)
บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่แสดงออกมาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ด้วยเหตุนี้บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลจึงแตกต่างกันไป นักจิตวิทยาเชื่อว่าบุคลิกภาพเป็นพฤติกรรมโดยส่วนรวมที่ได้สั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น บุคลิกภาพจึงได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน โดยปัจจัยที่แตกต่างในสภาพแวดล้อมทำให้บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล ถูกหล่อหลอมให้มีความแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม แม้บุคลิกภาพจะเป็นสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยและความเคยชินก็ตาม แต่บุคคลก็สามารถพัฒนาบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ให้ดีขึ้นได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น