วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์
พื้นฐานทางชีววิทยาหรือทางประสาทวิทยา เน้นที่พฤติกรรมของเอกัตบุคคล คือ พฤติกรรม ของคนคนหนึ่ง ที่ไม่สัมพันธ์กับผู้อื่น แต่มนุษย์เป็น สัตว์สังคม มีความต้องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และบางกรณีก็จำเป็น ต้องอยู่รวมกัน เป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นสังคม กระบวนการของกลุ่ม กระบวนการ ทางสังคม และสิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรม จึงมีส่วนสำคัญใน การกำหนดลักษณะ พฤติกรรมของมนุษย์ ให้เป็นไปตามสภาพของสังคมได้
ปัจจัยพื้นฐานด้านชีววิทยา
ในการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตนั้น แม้มนุษย์จะถูกจัดอยู่ใน อาณาจักรของสัตว์ แต่มนุษย์มี คุณสมบัติทางชีวภาพ ที่มี ประสิทธิภาพ ในการทำงานสูงกว่า สัตว์อื่น ๆ ทำให้สามารถปรับตนเองให้ สมดุลกับ สภาพแวดล้อม ได้โดยอาศัย พฤติกรรม หรือการกระทำของตัวเอง ปัจจัยด้านชีวภาพที่สำคัญ ของ มนุษย์ประกอบด้วยพันธุกรรม และ ระบบการทำงาน ของร่างกาย
1. พันธุกรรม
มีผู้เสนอสมการว่า พฤติกรรม = พันธุกรรม + สิ่งแวดล้อม + ระยะเวลา (จิราภา เตร็งไตรรัตน์และคณะ, 2542) จากสมการนี้แสดงว่า พฤติกรรมมนุษย์ ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ได้ถูกกำหนดโดย พันธุกรรม (Heredity) ซึ่งหมายถึง การถ่ายทอดลักษณะของบรรพบุรุษ หรือต้นตระกูล มายังรุ่นลูกหลานด้วยกระบวนการสืบพันธุ์ การถ่ายทอดนั้น กำหนดโดย สารพันธุกรรม ที่เรียกว่า ยีนส์ (Genes) ซึ่งเรียงตัวกันอยู่ใน โครโมโซม (Chromosome) ภายในนิวเคลียส (Nucleus) ของเซลล์ จุดเริ่มต้นของพันธุกรรมมาจาก เซลปฏิสนธิ ซึ่งเป็นการรวมตัวกัน ระหว่างไข่จาก แม่กับอสุจิจากพ่อ ในเซลล์ ปฏิสนธิของมนุษย์จะมีโครโมโซม ซึ่งมีโครงสร้างบิดเป็นเกลียว เรียงตัวกันเป็นคู่ ๆ รวม 23 คู่ ข้างหนึ่งจะมาจากพ่อ และอีกข้างหนึ่งจะมาจากแม่ โครโมโซมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 22 คู่แรก เรียกว่า ออโตโซม เป็นโครโมโซมที่ควบคุม ลักษณะและหน้าที่ ของร่างกาย 1 ทั้งเพศชายและเพศหญิงจะเหมือนกัน คู่หลัง เรียกว่า โครโมโซมเพศ ประกอบด้วย x และ y โครโมโซมเพศชาย จะประกอบด้วย xy ส่วนโครโมโซมเพศหญิงประกอบด้วย xx โครโมโซมบรรจุด้วย สารพันธุกรรม เป็นโมเลกุลเชิงซ้อน เรียกว่า DNA (Deoxyribonucleic acid) ถือเป็น รหัสพันธุกรรม เพราะเป็นตัวที่ควบคุม ลักษณะทางพันธุกรรม ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดใหม่ หน่วยที่ถ่ายทอด ลักษณะทางพันธุกรรม คือ ยีนส์ แต่ละลักษณะของคนเรา จะได้รับอิทธิพลจากยีนส์แต่ละชนิด ซึ่งจับตัวกันเป็นคู่ เมื่อยีนส์ทำงาน เพื่อแสดงอิทธิพล ต่อลักษณะของบุคคล ยีนส์ ตัวหนึ่งอาจจะข่มอีกตัวหนึ่ง ด้วยหลักการนี้เอง ยีนส์ จึงแบ่งเป็น ยีนส์ข่ม และยีนส์ด้อย โดยปรกติหากยีนส์ข่ม และยีนส์ด้อยมาจับคู่กัน ยีนส์ข่ม จะแสดงลักษณะออกมาให้เห็นในตัวบุคคล ยีนส์ด้อย จะแสดงผลก็ต่อ ยีนส์ทั้งคู่ เป็นยีนส์ด้อยเท่านั้น แต่การ ถ่ายทอดลักษณะ ดังกล่าวค่อนข้างจะซับซ้อน เนื่องจากใน โครโมโซม ของมนุษย์ ประกอบด้วย ยีนส์ประมาณ 50,000 ยีนส์จากพ่อหรือแม่แต่ละข้าง ในการปฏิสนธิ แต่ละครั้ง การจับคู่กันของยีนส์จึงมีเป็นสิบ ๆ ล้านแบบ โอกาสที่จะเกิดลักษณะใด ๆ จึงมี ความเป็นไปได้ จำนวนมาก
2. การทำงานของระบบในร่างกาย
ร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วย อวัยวะในระบบต่าง ๆ หลายระบบที่ทำงานประสานเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ชีวิตดำรง อยู่ได้อย่าง เหมาะสม หรือรักษา ความสมดุลทางกายไว้ให้ดีที่สุด บางระบบอวัยวะร่างกาย จะทำหน้าที่ เพื่อให้มนุษย์มีชีวิต เช่น การหายใจ การย่อยอาหาร การขับถ่ายเป็นต้น แต่ บางระบบของร่างกาย เชื่อมโยงกับกับการคิด ความรู้สึก อารมณ์ การศึกษาระบบของร่างกายในที่นี้ จะได้จำแนกเป็น ระบบประสาท สมอง ต่อมไร้ท่อ และระบบกล้ามเนื้อ
2.1 การทำงานของระบบประสาท (Nervous System)
2.1.1 ระบบประสาทส่วนกลาง ประกอบด้วย สมอง (Brain) และไขสันหลัง (Spinal cord)
2.1.2 ระบบประสาทส่วนนอก เป็นเซลล์ประสาทที่อยู่นอกกระโหลกศีรษะ และนอกกระดูกสันหลังประกอบด้วย ปมประสาท (Ganglia) ซึ่งเป็นที่รวมของตัวเซลล์ประสาท และใยประสาท ซึ่งทำหน้าที่รับสัมผัสจากภายนอก และรับข่าวสารคำสั่งจากสมอง ถือเป็นส่วนที่ติดต่อ โดยตรงกับโลก หรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ระบบประสาทส่วนนอก แบ่งเป็นสองส่วน คือ ระบบประสาทโซมาติก (Somatic System) และระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic System)
  • 2 .2 สมองสมองเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทส่วนกลาง จำแนกออกเป็น 3 ส่วน คือ
2 .2.1 สมองส่วนล่าง (Lower Brain) ถือเป็นสมองส่วนที่ต่อกับไขสันหลังส่วนบน มีหน้าที่กำกับ พฤติกรรมพื้นฐาน ในการมีชีวิต เช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อ ประกอบด้วย ก้านสมอง (Brain stem) และ ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ทำหน้าที่ต่าง ๆ ในการควบคุมระบบทำงานของร่างกาย
2 .2.2 สมองส่วนกลาง (Central Brain) หรือ ระบบลิมบิก (Limbic System) อยู่ใต้สมองส่วนบน ระบบลิมบิกรวมโครงสร้างอื่น อีกหลายส่วนคือ ธาลามัส (Thalamus) อะมีกดาลา (Amygdala) ฮิบโปแคมปัส (Hippocampus) และไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ทำหน้าที่เกี่ยวกับ แรงจูงใจ การตอบสนองทางอารมณ์ และพฤติกรรมเฉพาะเผ่าพันธุ์ เช่น การต่อสู้ และพฤติกรรมทางเพศ
2 .2.3 สมองส่วนบน (Upper Brain) หรือ เซเรบรัม (Cerebrum) ผิวด้านนอกของ เซเรบรัม เรียกว่า คอร์เทกซ์ (Cortex) หรือ มันสมอง เป็นที่รวมเซลล์ประสาทจำนวนมาก เป็นสมองใหม่ (New Brain) ที่เกิดใน วิวัฒนาการ ของสัตว์ แต่จะพบ ความซับซ้อน มาก ในสัตว์ชั้นสูงเท่านั้นมี ความสำคัญยิ่งต่อ ความสามารถ ขั้นสูง ของมนุษย์ เช่น การคิด การใช้ภาษา การแก้ปัญหา การมีเหตุผล
3.ระบบต่อมต่าง ๆ ( Glandular System )
ในระบบต่อมต่าง ๆจะมีเซลจำนวนมากที่ทำหน้าที่ผลิตสารประกอบทางเคมีขึ้นเรียกว่าฮอร์โมน (Hormone) ซึ่งฮอร์โมนจะทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมลักษณะบุคลิกภาพ รวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าฮอร์โมนจะทำหน้าที่ส่งผลกระทบต่อระบบร่างกายและจิตใจของคนเรา ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะศึกษาระบบต่อมต่าง ๆ ภายในร่างกาย
4. ระบบกล้ามเนื้อ (Muscular System)
กล้ามเนื้อในร่างกายคน มีขนาดต่างกันมาก ตั้งแต่เส้นใยขนาดเล็กไปจนถึงมัดขนาดใหญ่ กล้ามเนื้อส่วนใหญ่ อยู่เป็นคู่ ๆ แต่อยู่กันคนละซีก ของร่างกาย กล้ามเนื้อจะมีหลายลักษณะขึ้นอยู่กับหน้าที่ของกล้ามเนื้อนั้น แต่โดยทั่วไป คือ ช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายคง ความเป็นปรกติและช่วยป้องกันอวัยวะส่วนที่บอบบาง


2. อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม
บรอนเฟนเบนเนอร์ (Bronfenbrener cited by Sigelman & Shaffer, 1995, 86) ให้คำนิยามของ สิ่งแวดล้อม ไว้ดังนี้ "สิ่งแวดล้อมได้แก่เหตุการณ์หรือสภาวะใด ๆ ที่อยู่นอกอินทรีย์ที่มีผลต่อหรือ ได้รับผลจาก การกระทำ และ พัฒนาการของมนุษย์" สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ คือ ทุกสิ่งตั้งแต่โมเลกุลเล็ก ๆ ที่สามารถซึมสู่ กระแสเลือด ของตัวอ่อน ในครรภ์ จนถึงรูปแบบ สถาปัตยกรรม ของอาคาร ที่อยู่อาศัยเมื่อเติบโตขึ้น และสภาวะแวดล้อมโดยรอบ สิ่งแวดล้อมทางสังคม จะหมายถึงคนอื่น ๆ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับตัวเรา และได้รับ อิทธิพล บางอย่างจาก ตัวเรา ด้วย
บรอนเฟนเบนเนอร์ ได้เสนอแนวคิดในการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมไว้ เรียกว่า Ecological Approach ในแนวคิดนี้ได้แบ่งสิ่งแวดล้อมออกเป็นระบบต่อเนื่องกัน แต่ละระบบ มี ปฏิสัมพันธ์ กับบุคคลและ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันด้วย ดังนี้

1.1 ระบบจุลภาค เป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับตัวที่สุดและให้ประสบการณ์โดยตรง หน่วยแรกที่สุด คือ ครอบครัว ที่พ่อแม่และลูก มีปฏิสัมพันธ์กัน นอกจากนี้ยังมีหน่วยอื่นอีก เช่น ครอบครัวของญาติ ศูนย์เลี้ยงดูแลเด็ก ห้องเรียน ที่โรงเรียน เป็นต้น ในแต่ละระบบจุลภาคนี้ พฤติกรรมของ เด็กจะกระทบต่อคนอื่น ๆ ซึ่งเขาเหล่านั้น จะส่งผลกระทบ ต่อเด็กในรูปใหม่ได้ แม้แต่ทารกในครรภ์ก็อาจมีอิทธิพลต่อ พฤติกรรมของมารดา แล้วส่งผล ย้อนกลับต่อ อนาคตของทารกได้ สิ่งแวดล้อมใดที่คนทุกคนในนั้น สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ทั่วถึงจัดเป็นระบบจุลภาค
1.2 ระบบปฏิสัมพันธ์ เป็นระบบสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงระบบจุลภาคต่าง ๆ ให้สัมพันธ์กัน เช่น ความสัมพันธ์ ระหว่าง ญาติพี่น้อง ระหว่าง ครอบครัวและโรงเรียน เด็กที่มีปัญหาที่บ้านจะไปสร้างปัญหาที่โรงเรียน เด็กจากครอบครัวอุ่น มักจะเป็นเด็กเรียบร้อย ที่โรงเรียน เป็นต้น
1.3 ระบบภายนอก เป็นสภาพทางสังคมที่คนเราไม่ได้รับประสบการณ์โดยตรง แต่มีผลกระทบต่อพฤติกรรม หรือ พัฒนาการ ของบุคคล ได้ เช่น ทักษะทางสังคม ความสำเร็จในหน้าที่การงานของพ่อแม่ มีส่วนใน การจัดประสบการณ์ ที่เหมาะสม ให้ลูก ได้มากหรือน้อย หรือนโยบายของรัฐบาล ข้อกำหนด และเครือข่ายทางสังคมระหว่างกลุ่มคน เป็นสิ่งแวดล้อมประเภทนี้
1.4 ระบบมหภาค คือ ระบบใหญ่ที่สุดของสังคม ซึ่งเป็นที่รวมทุกระบบที่กล่าวมาให้เกี่ยวเนื่องกัน เป็นวัฒนธรรมใหญ่ และ วัฒนธรรมย่อยของสังคม วัฒนธรรมเป็นการปฏิบัติและแนวดำเนินชีวิต ซึ่งยอมรับกันในสังคม และ สืบทอดจาก คนรุ่นหนึ่ง ไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ได้แก่ ทัศนะเกี่ยวกับ ธรรมชาติของมนุษย์ในแต่ละวัยว่า ควรสอนอะไรให้เด็ก เพื่อทำหน้าที่ในสังคม เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ควรมี ความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง แต่วัฒนธรรมก็มีการพัฒนา ไปตามกาลเวลา มีเหตุการณ์สำคัญใน ประวัติศาสตร์ของสังคม เช่น ภาวะสงคราม สภาพเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ จากธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เราไม่ สามารถสรุปได้ว่า คนในสังคมเดียวกัน จะมีพฤติกรรม เหมือนกันหมด เพราะคนที่เกิด และมีผ่าน ประสบการณ์ต่างยุคสมัย กันจะได้รับ อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ระดับมหภาคที่แตกต่างกัน
1.5 ระบบเหตุการณ์แวดล้อม เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของสิ่งแวดล้อมและ การเปลี่ยนไปของสิ่งแวดล้อม ตลอดช่วงชีวิต ของบุคคล และรวมถึงเหตุการณ์ซึ่งเป็น ประวัติของบุคคล ผู้นั้นด้วย เช่น อิทธิพลของการหย่าร้าง ที่มีต่อเด็ก ซึ่งนักวิจัยพบว่า การหย่าร้างนั้นจะเกิดผล ทางลบมากที่สุดต่อเด็กในปีแรก มีผลต่อเด็กชาย มากกว่า เด็กหญิง แต่หลังจากการหย่าไปแล้วประมาณ 2 ปี เด็กจะเริ่มปรับตัวได้ (Bronfenbrener cited by Santrock, 1996) ระบบของสิ่งแวดล้อมที่เสนอโดย บรอนเฟนเบนเนอร์ แต่ละระบบมีส่วนสร้างพฤติกรรม ของบุคคล และอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้จากคนในระบบนั้น ๆ ด้วย มนุษย์ที่พัฒนาหรือเติบโตมาจาก สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ย่อมมี พฤติกรรม และลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไปด้วย
2. กระบวนการสังคมประกิต
กระบวนการสังคมประกิต (Socialization) เป็นกระบวนการที่สถาบันต่าง ๆ ในสังคมได้ กล่อมเกลา อบรมหรือให้การเรียนรู้แก่สมาชิกในสังคมว่าอะไรควรทำ อะไรเป็นข้อห้าม ทำให้เกิดปทัสถาน ระเบียบ และวัฒนธรรมของกลุ่มที่ทุกคนต้องคำนึงถึงในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมนั้นสถาบันทางสังคมที่สำคัญได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบัน การปกครอง เพื่อนและสื่อมวลชน เป็นต้น
ในกระบวนการสังคมประกิต ครอบครัวเป็นสถาบันแรกทางสังคมที่อบรมบุคคล ด้านเจตคติ แบบพฤติกรรม วัฒนธรรม ระเบียบแบบแผนทางสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น พ่อแม่ให้การอบรมเลี้ยงดูแก่ลูกแบบใดมีผลต่อพฤติกรรมและนิสัยของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น วิธีการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่พิจารณาได้จากสองมิติ คือ ความรัก-ความชิงชัง และ การให้อิสระ-การเข้มงวด จึงมีพ่อแม่ที่รักลูก พ่อแม่ที่ ชิงชังลูก พ่อแม่ที่ให้อิสระแก่ลูก และพ่อแม่ที่เข้มงวดกับลูก เมื่อนำสองมิตินี้มาประกอบกันจะได้ แบบพื้นฐานการเลี้ยงดูลูกสี่แบบ ได้แก่ ให้ความรักแต่เข้มงวด ให้ความรักและความอิสระ ชิงชังและเข้มงวด ชิงชังและปล่อยอิสระ
ในมิติแรกเรื่อง ความรัก-ความชิงชัง เป็นที่ยอมรับกันว่าเด็กซึ่งเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่น จะได้รับประสบการณ์ที่ส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ และปรับตัวในสังคมได้ดี ส่วนในมิติ ความเข้มงวด-การให้อิสระ ยังต้องมีการพิจารณาว่าพ่อแม่ควรเข้มงวดหรือให้ความอิสระและลูกในระดับใดจึงเหมาะสม บอมรินด์ (Baumrind, 1991 อ้างถึงในวินัย เพชรช่วยและคณะ, 2543) เสนอไว้ 3 แบบ ดังนี้
2.1 แบบเข้มงวด เป็นแบบการเลี้ยงดูที่เข้มงวดกับลูกสูงมาก ตั้งกฎเกณฑ์และระเบียบ มากมาย และคาดหวังว่าต้องได้รับการปฏิบัติตามทุกอย่างโดยไม่ต้องทราบเหตุผล พ่อแม่แบบนี้จะไม่อธิบายเหตุผลในกฎเหล่านั้นด้วย หากไม่ทำตามจะใช้อำนาจบังคับ ลงโทษทางกายหรือด้วยวิธีต่าง ๆ
2.2 แบบยึดหยุ่นในเกณฑ์ เป็นแบบการเลี้ยงดูที่ยืดหยุ่นได้ ให้ลูกมีอิสระตามสมควร กำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจนและอธิบายเหตุผลว่าทำไมต้องเข้มงวด ตอบสนองความต้องการและรับฟัง ความคิดเห็นของลูก แต่ลูกยังต้องปฏิบัติตามกฎที่กำหนดไว้
2.3 แบบผ่อนปรน เป็นแบบการเลี้ยงดูที่ผ่อนคลายมาก พ่อแม่ไม่ตั้งกฎเกณฑ์หรือคาดหวังในลูกมากนัก ปล่อยให้ลูกแสดงอารมณ์และการกระทำตามต้องการได้ ไม่เข้มงวดหรือควบคุมพฤติกรรมของลูก ให้อิสระในตัวลูกค่อนข้างมาก
การเลี้ยงดูแบบยึดหยุ่นในเกณฑ์ ถ้าประกอบด้วยความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ จะเป็นแบบการเลี้ยงดูลูกที่ส่งผลให้เด็กเติบเป็นสมาชิกที่ดีในสังคม แสดงพฤติกรรมที่มีเหตุผล มีนิสัยเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ร่วมมือกับผู้อื่น เคารพกติกา และมีวินัยในตนเอง ส่วนการเลี้ยงดูแบบเข้มงวด ถ้าหากประกอบด้วยความชิงชัง ทำให้เด็กที่เติบโตขึ้นเป็นพวกต่อต้านสังคม ชอบก่อเหตุรุนแรง
สรุป
ปัจจัยพื้นฐานสำหรับพฤติกรรมมนุษย์ คือ หลักการ หรือความรู้ซึ่งช่วยให้เข้าใจ พฤติกรรมมนุษย์ ได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น ปัจจัยพื้นฐานของพฤติกรรม ที่สำคัญได้แก่ ปัจจัยทางชีวภาพ ซึ่งกล่าวถึง อิทธิพลของพันธุกรรม และ การทำงานของ ระบบประสาท สมอง ต่อมไร้ท่อ และกล้ามเนื้อที่มีต่อ พฤติกรรม ปัจจัยจิตวิทยา ซึ่งกล่าวถึง แรงจูงใจ และ การเรียนรู้ ที่มีอิทธิพลต่อ พฤติกรรม และปัจจัยทางสังคม ที่กล่าวถึงระบบของสิ่งแวดล้อม กระบวนการสังคมประกิตในครอบครัว และกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อ พฤติกรรม กระบวนการทำงานของปัจจัยเหล่านี้ทำให้มนุษย์มีความ แตกต่าง ระหว่างบุคคล และอาจแสดงพฤติกรรม ที่แตกต่างกัน ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน






 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น